หน้าแรก
โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ฯ
กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
สารบัญ
ศาสนากับสังคม
ศาสนากับขนบธรรมเนียมประเพณี

             วัฒนธรรมที่มนุษย์ได้ประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนานเป็นแบบอย่างให้กลุ่มชนได้ปฏิบัติในสังคม ก่อให้เกิดความสุขเป็นสิริมงคล เกิดความสามัคคี ช่วยให้มีความสุขสดชื่น  ทำให้มีสติ เกิดปัญญา มีความรู้ มีความเฉลียวฉลาด  เกิดความประณีตมีความละเอียดถี่ถ้วน มีแบบแผนในการจัดกิจกรรมทำให้เกิดความงดงามกลายเป็นประเพณีในสังคม
          ประเพณี หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่กำหนดพฤติกรรมในสถานการณ์ต่างๆ ที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบกันมา ถ้าคนใดในสังคมนั้นๆ ฝ่าฝืนมักถูกตำหนิจากสังคม ลักษณะประเพณีในสังคมระดับประเทศชาติ มีทั้งประสมกลมกลืนเป็นอย่างเดียวกัน และมีผิดแผกกันไปบ้างตามความนิยมเฉพาะท้องถิ่น แต่โดยมากย่อมมีจุดประสงค์ และวิธีการปฏิบัติเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีเฉพาะส่วนปลีกย่อยที่เสริมเติมแต่งหรือตัดทอนไปในแต่ละท้องถิ่น สำหรับประเพณีไทยมักมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อในคติพระพุทธศาสนาและพราหมณ์มาแต่โบราณ
            คำว่า “ประเพณี”  ตามพจนานุกรมภาษาไทยฉบับบัณฑิตยสถาน ได้กำหนดความหมายประเพณีไว้ว่า ขนบธรรมเนียมแบบแผน ซึ่งสามารถแยกคำต่างๆ ออกได้เป็น “ขนบ” มีความหมายว่า กฎ ระเบียบแบบอย่าง “ธรรมเนียม” มีความหมายว่า ที่นิยมใช้กันมา ประเพณี เป็นคำเรียกสั้น ๆ บางครั้ง เรียกคำเต็มว่า ขนบธรรมเนียมประเพณี


ประเพณีแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ได้แก่
         1. จารีตประเพณี หรือ กฎศีลธรรม หมายถึง สิ่งซึ่งสังคมใดสังคมหนึ่งยึดถือและปฏิบัติสืบกันมาอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เป็นเรื่องของความผิดถูก มีเรื่องของศีลธรรมเข้ามาร่วมด้วย ดังนั้นสมาชิกในสังคมต้องทำ ผู้ใดฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่ว จะต้องถูกตำหนิหรือได้รับการลงโทษจากคนในสังคมนั้น เช่น ลูกหลานต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อท่านแก่เฒ่า ถ้าใครไม่เลี้ยงดูถือว่าเป็นคนเนรคุณหรือลูก อกตัญญู จารีตประเพณีของแต่ละสังคมนั้นย่อมไม่เหมือนกัน เพราะมีค่านิยมที่ยึดถือต่างกัน การนำเอาจารีตประเพณีของตนไปเปรียบเทียบกับของคนอื่นแล้วตัดสินว่าดีหรือเลวกว่าของตนย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความเชื่อของแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไป จารีตประเพณีจัดเป็นวัฒนธรรม ด้านคติธรรม

       
        2. ขนบประเพณี
หรือ ระเบียบประเพณี หรือ สถาบัน หมายถึง ระเบียบแบบแผนที่สังคมได้กำหนดไว้แล้วปฏิบัติสืบต่อกันมา ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม ทางตรง ได้แก่ ประเพณีที่มีการกำหนดเป็นระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติอย่างชัดแจ้งว่าบุคคลต้องปฏิบัติอย่างไร เช่น สถาบันโรงเรียน มีโรงเรียน มีผู้สอน มีผู้เรียน มีระเบียบการรับสมัคร การเข้าเรียน การสอบไล่ เป็นต้น ทางอ้อม ได้แก่ ประเพณีที่รู้กันโดยทั่ว ๆไป โดยไม่ได้วางระเบียบไว้แน่นอน แต่ปฏิบัติไปตามคำบอกเล่า หรือตัวอย่างจากที่ผู้ใหญ่หรือบุคคลในสังคมปฏิบัติ เช่น ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การตาย การแต่งงาน ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิต หรือประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล ตรุษ สารท การขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ขนบประเพณี จัดเป็นวัฒนธรรม ด้านเนติธรรม

         
             3. ธรรมเนียมประเพณี หมายถึง ประเพณีเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญที่ทุกคนควรทำ ไม่มีระเบียบแบบแผนเหมือนขนบประเพณี หรือมีความผิดถูกเหมือนจารีตประเพณี เป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ทุกคนปฏิบัติกันทั่วไปจนเกิดความเคยชิน และไม่รู้สึกเป็นภาระหน้าที่ เพราะเป็นสิ่งที่มีมานานและใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนมากเป็นมารยาทในด้านต่างๆ  เช่น การแต่งกาย การพูด การรับประทานอาหาร การเป็นแขกไปเยี่ยมผู้อื่น ฯลฯ ธรรมเนียมประเพณีเป็นเรื่องที่ทุกคนควรทำแม้มีผู้ฝ่าฝืนหรือทำผิดก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญแต่อาจถูกตำหนิว่าเป็นคนไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีมารยาท ไม่รู้จักกาลเทศะ ธรรมเนียมประเพณีจัดเป็นวัฒนธรรม ด้านสหธรรม
          
             ประเพณีของชาวไทยตามที่ได้กล่าวมาแล้วจะได้รับอิทธิพลจากหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา จะมีพิธีกรรมที่มี ศาสนพิธีเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิต ประเพณีเกี่ยวกับการเกิด การตาย การแต่งงาน หรือประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล วันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันตรุษสงกรานต์ สารท วันลอยกระทง การขึ้นบ้านใหม่ หรือแม้แต่ประเพณีอันเนื่องมาจากศาสนาโดยตรง อาทิ ประเพณีทำบุญตักบาตรวันอาสาฬหบูชา  วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา มักจะมีการทำบุญเกิดขึ้น
Copyright By : Chalengsak Chuaorrawan Sainampeung School
186 Sukhumwit 22 Sukhumwit RD Khlongtoeay Khlongtoeay Bangkok Thailand
e-mail address : chalengsak.ch@hotmail.com
Tel; 089-200-7752 mobile
http://www.sainampeung.ac.th